จุดกำเนิดของสภากาชาดไทย คือ เหตุการณ์ ร.ศ.112 หรือ สงครามฝรั่งเศส – สยาม Franco-Siamese ซึ่งเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2436 นับเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่ร้ายแรงที่สุดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สยามต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากมหาอำนาจยุโรป รัฐบาลฝรั่งเศสส่งเรือรบเข้ามาจอดหน้าสถานทูตฝรั่งเศสซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และเรือปืนอีก 2 ลำ เข้ามายังกรุงเทพฯ การต่อสู้อย่างรุนแรงในครั้งนั้นฝ่ายสยามสูญเสียกำลังพลมากมายเนื่องจากเรือรบของฝรั่งเศสมีแสนยานุภาพเหนือกว่ากองกำลังทหารของสยาม ทำให้ทหารสยามเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีองค์กรใด ๆ ทำหน้าที่ช่วยเหลือพยาบาลบรรเทาทุกข์ให้ทหารอย่างเป็นทางการ
ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์
วันที่ 13 เมษายน 2436 ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ขอพระราชทานกราบทูลพระกรุณาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระนางเจ้าฯ สว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี) พระนางเจ้าพระวรราชเทวี (พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี) พระนางเจ้าพระราชเทวี (พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี) และพระอรรคชายาเธอ (พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ พระอรรคชายาเธอ และพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค) ขอได้โปรดนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตตั้งสภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม เพื่อจัดการรักษาพยาบาล บำรุงกำลังพลทหาร ในวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112
ต่อมาในวันที่ 26 เมษายน 2436 มีหนังสือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งสภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม และจะได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์จัดการให้สำเร็จไปในเมื่อสภาอุณาโลมแดงมีความขัดข้องประการใดก็ตาม ดังนั้น วันที่ 26 เมษายน 2436 จึงถือได้ว่าเป็นวันสถาปนาสภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม และสืบสานภารกิจมาต่อเนื่องเป็นสภากาชาดสยามและสภากาชาดไทยในปัจจุบัน