- สภากาชาดไทย ดำเนินการเพื่อมนุษยธรรมตามหลักการกาชาดสากลและเป็นองค์การสาธารณกุศลระดับชาติคู่สังคมไทยมาอย่างยาวนาน ถือกำเนิดขึ้นในรัตนโกสินทรศก 112 ขณะนั้นได้เกิดกรณีพิพาทระหว่างสยามกับฝรั่งเศส เรื่องดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง หรือที่เรียกกันว่า “วิกฤตการณ์ ร.ศ.112” เหตุการณ์ทวีความรุนแรงจนเกิดการสู้รบและส่งผลให้มีทหารบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก แต่ไม่มีองค์กรการกุศลใด ๆ ให้ความช่วยเหลือและให้การรักษาพยาบาลทหารที่บาดเจ็บเหล่านั้น ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ภริยาเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ได้ชักชวนบรรดาสตรีไทยช่วยกันเรี่ยไรเงินและสิ่งของ เพื่อส่งไปช่วยเหลือทหารที่ได้รับบาดเจ็บ และมีความเห็นว่าควรจะมีองค์การใดองค์การหนึ่งช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของทหาร เช่นเดียวกับองค์การกาชาดของต่างประเทศ . จึงได้นำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ขอให้ทรงเป็นชนนีบำรุง คือ เป็นองค์อุปถัมภ์ในการจัดตั้งองค์การ เพื่อบรรเทาทุกข์ยากของทหาร ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ทรงพระราชดำริว่า เป็นความคิดที่ต้องด้วยแบบอย่าง อารยประเทศที่ เจริญแล้วทั้งหลาย จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระบรมราชานุญาตให้จัดตั้ง “สภาอุณาโลมแดง” ขึ้น เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2436 ต่อมาถือเป็นวันสถาปนาสภากาชาดไทย และทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ทรงเป็น “สภาชนนี” สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) ทรงเป็น สภานายิกา ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ เป็น เลขานุการิณี และ พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ เป็นเหรัญญิกา สภาอุณาโลมแดง . ต่อมา เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้ง “สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม” ขึ้น ในวันที่ 26 เมษายน ร.ศ.112 หรือพุทธศักราช 2436 ซึ่งถือเป็นวันสถาปนาสภากาชาดไทย ภายหลังชื่อ “สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม” ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สภากาชาดสยาม” ในปี 2449 และเปลี่ยนชื่อเป็น “สภากาชาดไทย” ตั้งแต่ปี 2482 จวบจนปัจจุบัน 26 เมษายน 2566 สภากาชาดไทยครบรอบ 130 ปี ยังคงสร้างความเชื่อมั่นและดำเนินการภายใต้พันธกิจหลัก 4 ด้าน ได้แก่ การบริการทางการแพทย์และสุขภาพอนามัย การบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัย การบริการโลหิต และการส่งเสริมคุณภาพชีวิต ตามหลักการพื้นฐาน 7 ประการ ได้แก่ มนุษยธรรม ความไม่ลำเอียง ความเป็นกลาง ความเป็นอิสระ บริการอาสาสมัคร ความเป็นเอกภาพ และความเป็นสากล