COSO 2013

คณะกรรมการร่วมของสถาบันวิชาชีพ 5 สถาบันในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเรียกว่า Committee of Sponsoring Organizations of the Treadway Commission (COSO) ได้กำหนดกรอบแนวคิดการควบคุมภายใน (COSO Framework) ที่ปรับปรุงมาจากแนวคิดพื้นฐานเดิมของ COSO ปี 1992 โดยเพิ่มเติมในส่วนต่างๆ ให้ชัดเจนขึ้น เรียกกันว่า COSO 2013 สำหรับใช้เป็นแนวทางการควบคุมภายในขององค์กรและเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของธุรกิจในปัจจุบัน

องค์ประกอบการควบคุมภายใน COSO 2013 ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ 17 หลักการ

องค์ประกอบที่ 1: สภาพแวดล้อมการควบคุม (Control Environment)

  • หลักการที่ 1 – องค์กรยึดหลักความซื่อตรงและจริยธรรม
  • หลักการที่ 2 – คณะกรรมการแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อการกำกับดูแล
  • หลักการที่ 3 – คณะกรรมการและฝ่ายบริหาร มีอำนาจการสั่งการชัดเจน
  • หลักการที่ 4 – องค์กร พัฒนา รักษาไว้ และจูงใจพนักงาน
  • หลักการที่ 5 – องค์กรผลักดันให้ทุกตำแหน่งรับผิดชอบต่อการควบคุมภายใน

องค์ประกอบที่ 2: การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment)

  • หลักการที่ 6 – กำหนดเป้าหมายชัดเจน
  • หลักการที่ 7 – ระบุและวิเคราะห์ความเสี่ยงอย่างครอบคลุม
  • หลักการที่ 8 – พิจารณาโอกาสที่จะเกิดการทุจริต
  • หลักการที่ 9 – ระบุและประเมินความเปลี่ยนแปลงที่จะกระทบต่อการควบคุมภายใน

องค์ประกอบที่ 3: กิจกรรมการควบคุม (Control   Activities)

  • หลักการที่ 10 – ควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
  • หลักการที่ 11 – พัฒนาระบบเทคโนโลยีที่ใช้ในการควบคุม
  • หลักการที่ 12 – ควบคุมให้นโยบายสามารถปฏิบัติได้

องค์ประกอบที่ 4: สารสนเทศและการสื่อสาร (Information   and Communication)

  • หลักการที่ 13 – องค์กรมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องและมีคุณภาพ
  • หลักการที่ 14 – มีการสื่อสารข้อมูลภายในองค์กร ให้การควบคุมภายในดำเนินต่อไปได้
  • หลักการที่ 15 – มีการสื่อสารกับหน่วยงานภายนอก ในประเด็นที่อาจกระทบต่อการควบคุมภายใน

องค์ประกอบที่ 5: กิจกรรมการกำกับติดตามและประเมินผล   (Monitoring   Activities)

  • หลักการที่ 16 – ติดตามและประเมินผลการควบคุมภายใน
  • หลักการที่ 17 – ประเมินและสื่อสารข้อบกพร่องของการควบคุมภายในทันเวลา และเหมาะสม

ทั้งนี้ องค์ประกอบการควบคุมภายในแต่ละองค์ประกอบและหลักการจะต้อง Present & Function (มีอยู่จริง และ นำไปปฏิบัติได้) อีกทั้งทำงานอย่างสอดคล้องและสัมพันธ์กัน จึงจะทำให้การควบคุมภายในมีประสิทธิผล

ที่มา: http://tanya-nps.blogspot.com/

COSO

คำศัพท์การตรวจสอบภายใน

คำศัพท์ ความหมาย
การเพิ่มคุณค่า – Add Value กิจกรรมการตรวจสอบภายในเพิ่มคุณค่าแก่องค์กร (และผู้มีส่วนได้เสีย) เมื่อกิจกรรมการตรวจสอบดังกล่าวมีความเที่ยงธรรม สามารถให้ความเชื่อมั่นในเรื่องที่เกี่ยวข้อง และมีส่วนสนับสนุนความมีประสิทธิผล และมีประสิทธิภาพของกระบวนการกำกับดูแล การบริหารความเสี่ยง และการควบคุม
การควบคุมอย่างพอเพียง – Adequate Control การที่ฝ่ายบริหารมีการวางแผนและจัดวางระบบภายในองค์กรในลักษณะที่สามารถให้ความเชื่อมั่นอย่างสมเหตุสมผลว่าได้มีการบริหารความเสี่ยงขององค์กรอย่างมีประสิทธิผลและทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์อย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ
การบริการให้ความเชื่อมั่น – Assurance Services การตรวจสอบหลักฐานอย่างเที่ยงธรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งการประเมินอย่างเป็นอิสระในกระบวนการกำกับดูแล การบริหารความเสี่ยง และการควบคุมขององค์กร เช่น การให้ความเชื่อมั่นทางด้านการเงิน การปฏิบัติงาน การปฏิบัติตามกฎระเบียบ ความมั่นคงปลอดภัยของระบบต่าง ๆ และภารกิจการจัดทำ Due Diligence

มีบุคคล 3 ฝ่ายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการให้ความเชื่อมั่น:

  • บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการ/ขั้นตอนการปฏิบัติงาน ระบบ หรือประเด็นอื่นๆ ที่อยู่ในความสนใจ หรือที่เรียกว่า เจ้าของระบบ (Process Owner)
  • บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ทำการประเมิน ซึ่งก็คือ ผู้ตรวจสอบภายใน
  • บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ใช้ผลจากการประเมิน หรือที่เรียกว่า ผู้ใช้ (User)
คณะกรรมการ – Board คณะบุคคลที่บริหารองค์กรในระดับสูงสุดซึ่งมีหน้าที่ในการสั่งการและ/หรือสอดส่องดูแลกิจกรรมและการบริหารจัดการขององค์กร ในบางครั้งหมายความรวมถึงกลุ่มของกรรมการอิสระ ตัวอย่างเช่น คณะกรรมการองค์กร ( A Board of Directors) คณะกรรมการกำกับดูแล (A Supervisory Board) หรือคณะกรรมการบริหาร (A Board of Governors or Trustees) ถ้าไม่มีกลุ่มคณะกรรมการดังกล่าวนี้ “คณะกรรมการ” อาจหมายถึงหัวหน้าขององค์กรหรืออาจหมายถึงคณะกรรมการตรวจสอบซึ่งคณะบริหารได้มอบหน้าที่เฉพาะด้าน
กฎบัตร – Charter กฎบัตรของงานตรวจสอบภายในคือเอกสารที่เป็นทางการ ซึ่งกำหนดวัตถุประสงค์ อำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบของกิจกรรมการตรวจสอบภายใน กฎบัตรกำหนดสถานะของกิจกรรมการตรวจสอบภายในในองค์กร ให้อำนาจในการเข้าถึงข้อมูลของกิจการ บุคลากร และทรัพย์สินต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานตามภารกิจและการกำหนดขอบเขตของกิจกรรมการตรวจสอบภายใน

กฎบัตรของหน่วยงานตรวจสอบภายในมักจะประกอบด้วย

  • บทนำ (Introduction)
  • อำนาจหน้าที่ (Authority)
  • โครงสร้างองค์กรและสายการบังคับบัญชา (Organization and Reporting Structure)
  • ความมีอิสระและความเที่ยงธรรม (Independence and Objectivity)
  • หน้าที่ความรับผิดชอบ (Responsibilities)
  • การประกันคุณภาพและการปรับปรุงงาน (QAIP)
  • ลายเซ็น (Signature)
หัวหน้าผู้บริหารงานตรวจสอบ – Chief Audit Executive หัวหน้าผู้บริหารงานตรวจสอบ หมายถึง บุคคลที่มีตำแหน่งงานอาวุโสซึ่งรับผิดชอบการบริหารกิจกรรมการตรวจสอบภายในให้มีประสิทธิผล สอดคล้องกับกฎบัตรงานตรวจสอบภายใน และคำนิยามของการตรวจสอบภายใน ประมวลจรรยาบรรณ และมาตรฐาน หัวหน้าผู้บริหารงานตรวจสอบหรือบุคคลที่ต้องรายงานต่อหัวหน้าผู้บริหารงานตรวจสอบควรมีประกาศนียบัตรทางวิชาชีพและคุณสมบัติที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามชื่อตำแหน่งสำหรับหัวหน้าผู้บริหารงานตรวจสอบอาจแตกต่างกันในแต่ละองค์กร
ประมวลจรรยาบรรณ – Code of Ethics ประมวลจรรยาบรรณของสมาคมผู้ตรวจสอบภายในสากล (The Institute of Internal Auditors หรือ IIA) คือ หลักการ (Principles) ที่เกี่ยวกับวิชาชีพและการปฏิบัติงานตรวจสอบภายใน และหลักปฏิบัติ (Rules of Conduct) ซึ่งบรรยายสิ่งที่ผู้ตรวจสอบภายในพึงประพฤติปฏิบัติ ประมวลจรรยาบรรณสามารถนำไปปฏิบัติได้ทั้งในระดับบุคคลและหน่วยงานที่ให้บริการตรวจสอบภายใน จุดประสงค์ของประมวลจรรยาบรรณคือเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมของจรรยาบรรณในวิชาชีพการตรวจสอบภายใน
การปฏิบัติตามกฎระเบียบ – Compliance การปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบาย แผนงาน วิธีการปฏิบัติงาน กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ สัญญา ตลอดจนข้อกำหนดต่าง ๆ
ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ – Conflict of Interest ความสัมพันธ์ใดๆ ที่ทำให้องค์กร ไม่ได้ประโยชน์สูงสุดที่พึงได้รับ ความขัดแย้งทางผลประโยชน์นี้อาจจะทำให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความลำเอียง และไม่สามารถปฏิบัติภาระหน้าที่ได้อย่างเที่ยงธรรม
การบริการให้คำปรึกษา – Consulting Services กิจกรรมการให้คำปรึกษา แนะนำ และบริการที่เกี่ยวเนื่องแก่ผู้รับบริการ โดยลักษณะและขอบเขตของงานจะเป็นไปตามข้อตกลงที่ทำขึ้นร่วมกันกับผู้รับบริการและมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มคุณค่าและปรับปรุงกระบวนการกำกับดูแล การบริหารความเสี่ยง และการควบคุมขององค์กร โดยไม่เข้าไปร่วมรับผิดชอบในฐานะฝ่ายบริหาร ตัวอย่างรวมถึงการให้คำปรึกษา คำแนะนำ การอำนวยความสะดวก และการฝึกอบรม
การควบคุม – Control ความหมายตามมาตรฐานของ IIA:

การกระทำใดๆ โดยฝ่ายบริหาร คณะกรรมการ และกลุ่มบุคคลอื่น ๆ เพื่อบริหารความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสให้องค์กรบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยฝ่ายบริหารมีการวางแผน จัดองค์กร และอำนวยการดาเนินงานอย่างเพียงพอที่จะเกิดความเชื่อมั่นอย่างสมเหตุสมผลว่าองค์กรจะบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย

ความหมายตามกรอบการควบคุมภายใน COSO:

กระบวนการหรือขั้นตอนการทำงานที่เป็นผลมาจากการออกแบบโดยคณะกรรมการ ผู้บริหาร หรือบุคลากรอื่นๆ ขององค์กร เพื่อก่อให้เกิดความมั่นใจได้อย่างสมเหตุสมผลว่า องค์กรจะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวกับการดำเนินงาน (Operations) การรายงาน (Reporting) และการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (Compliance)

สภาวะแวดล้อมของการควบคุม – Control Environment ทัศนคติและการกระทำของคณะกรรมการและฝ่ายบริหารในการให้ความสำคัญกับการควบคุมภายในองค์กร สภาพแวดล้อมของการควบคุมนี้เป็นรากฐานที่จะทำให้องค์กรบรรลุวัตถุประสงค์ขั้นต้นของการวางระบบการควบคุมภายใน สภาพแวดล้อมของการควบคุมมีองค์ประกอบดังนี้

  •      ความซื่อสัตย์สุจริตและความมีจริยธรรม
  •      ปรัชญาและรูปแบบการบริหารของฝ่ายบริหาร
  •      โครงสร้างขององค์กร
  •      การมอบหมายอำนาจและหน้าที่รับผิดชอบ
  •      นโยบายและการปฏิบัติทางด้านทรัพยากรบุคคล
  •      ความสามารถในหน้าที่ของบุคลากร
กระบวนการควบคุม – Control Process นโยบาย วิธีการปฏิบัติ (ทั้งคู่มือการปฏิบัติงานและระบบอัตโนมัติ) และกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกรอบโครงสร้างการควบคุมที่ออกแบบมาเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าความเสี่ยงถูกจำกัดให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
ภารกิจ – Engagement งานตรวจสอบภายในหรืองานการสอบทานที่ได้รับมอบหมายให้ทำแต่ละงาน ตัวอย่างเช่น งานการตรวจสอบภายใน งานการสอบทานการประเมินการควบคุมด้วยตนเอง (Control Self-Assessment หรือ CSA) การสอบสวนการทุจริต หรืองานบริการให้คำปรึกษา ภารกิจอาจประกอบด้วยหลาย ๆ งานหรือหลาย ๆ กิจกรรมที่ทำควบคู่กันไปเพื่อบรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์เดียวกัน
ความคิดเห็นเกี่ยวกับภารกิจ – Engagement Opinion การประเมิน (Rating) ข้อสรุป และ/หรือคำบรรยายของผลการตรวจสอบภายในซึ่งเกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์และขอบเขตของการตรวจสอบ
วัตถุประสงค์ของภารกิจ – Engagement Objectives คำชี้แจงอย่างกว้าง ๆ ที่พัฒนาโดย ผู้ตรวจสอบภายใน เพื่อกำหนดเป้าหมายที่คาดหวังว่าภารกิจจะสัมฤทธิ์ผล
แผนการปฏิบัติงานตามภารกิจ – Engagement Work Program เอกสารแสดงรายละเอียดวิธีการปฏิบัติงานตามภารกิจ ซึ่งออกแบบเพื่อเป็นแนวทางที่จะทำให้ภารกิจเป็นไปตามแผนที่วางไว้
ผู้ให้บริการจากภายนอก – External Service Provider บุคคลหรือนิติบุคคลภายนอกองค์กรที่มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์เฉพาะด้าน
การทุจริต – Fraud การกระทำผิดกฎหมายของบุคคลหรือองค์กรในลักษณะของการฉ้อฉลหลอกลวง ปกปิด หรือใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นโดยปราศจากการข่มขู่บังคับจากผู้อื่น เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินเงินทองหรือบริการ เพื่อเลี่ยงการจ่ายเงินหรือให้บริการ หรือเพื่อรักษาความได้เปรียบส่วนตนหรือความได้เปรียบทางธุรกิจ
การกำกับดูแล – Governance ความหมายตามมาตรฐานของ IIA:

การผสมผสานของกระบวนการและโครงสร้างต่างๆ ที่คณะกรรมการนำมาใช้เพื่อบอกกล่าว สั่งการ บริหาร และติดตาม กิจกรรมต่างๆ ภายในองค์กรเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ขององค์กร

ความหมายตาม ก.ล.ต.:

ระบบที่จัดให้มีกระบวนการและโครงสร้างของภาวะผู้นำ และการควบคุมของกิจการ ให้มีความรับผิดชอบตามหน้าที่ด้วยความโปร่งใส และสร้างความสามารถในการแข่งขันเพื่อรักษาเงินลงทุน และเพิ่มคุณค่าให้กับผู้ถือหุ้นในระยะยาว ภายในกรอบการมีจริยธรรมที่ดีโดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นและสังคมโดยรวม โดยประกอบด้วยหลักการ 5 ข้อ ดังต่อไปนี้

  • สิทธิของผู้ถือหุ้น
  • การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียม
  • บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย
  • การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส
  • ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ
เหตุบั่นทอน – Impairments เหตุการณ์หรือการกระทำที่ส่งผลให้การทำงานของบุคคลหรือของ องค์กรขาดความเที่ยงธรรมและความเป็นอิสระ เหตุการณ์หรือการกระทำดังกล่าวจะรวมถึงการกระทำที่มีการขัดแย้งทางผลประโยชน์ส่วนบุคคล การจำกัดขอบเขต การกีดกันการเข้าถึงข้อมูล บุคลากร และทรัพย์สิน ตลอดจนการถูกจำกัดทรัพยากร (เงินทุนสนับสนุน)
ความเป็นอิสระ – Independence การเป็นอิสระจากสภาวะที่เป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการปฏิบัติงานตรวจสอบภายใน เพื่อทำให้การตรวจสอบภายในบรรลุผลโดยปราศจากอคติ
การควบคุมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ – Information Technology Controls การควบคุมที่สนับสนุนการบริหารจัดการและการกากับดูแลธุรกิจ โดยจัดให้มีการควบคุมที่โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น ระบบงาน ข้อมูล ระบบโครงสร้าง และบุคลากร
การกำกับดูแลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ – Information Technology Governance ประกอบด้วยภาวะความเป็นผู้นำ โครงสร้างขององค์กร และกระบวนการที่สร้างความมั่นใจว่า เทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กรสนับสนุนกลยุทธ์และวัตถุประสงค์ขององค์กร
กิจกรรมการตรวจสอบภายใน – Internal Audit Activity แผนก หน่วยงาน คณะที่ปรึกษา หรือ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ ที่ให้บริการให้ความเชื่อมั่นและให้คำปรึกษาอย่างเที่ยงธรรมและเป็นอิสระ เพื่อเพิ่มคุณค่าและปรับปรุงการดาเนินงานขององค์กร กิจกรรมการตรวจสอบภายในช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายด้วยการประเมินและปรับปรุงประสิทธิผลของกระบวนการกำกับดูแล การบริหารความเสี่ยง และการควบคุม อย่างเป็นระบบและเป็นระเบียบ
กรอบโครงสร้างการปฏิบัติงานวิชาชีพตรวจสอบภายในระดับสากล – International Professional Practices Framework กรอบงานซึ่งจัดวางแนวทางการปฏิบัติงานที่เผยแพร่โดย สมาคมผู้ตรวจสอบภายในสากล (The IIA) แนวทางการปฏิบัติงานดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ (1) แนวทางที่บังคับใช้งาน (Mandatory) และ (2) แนวทางที่สนับสนุนและแนะนำให้นำไปใช้งาน (Strongly Recommended)
ความเที่ยงธรรม – Objectivity ทัศนคติอันปราศจากความเอนเอียงที่เอื้อให้ผู้ตรวจสอบภายในสามารถปฏิบัติงานตามภารกิจด้วยความเชื่อมั่นในผลงานและไม่มีการลดหย่อนในคุณภาพของงาน ดุลยพินิจของผู้ตรวจสอบภายในในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบจะต้องไม่อยู่ภายใต้การชักจูงหรือชักนำจากผู้อื่นหรือกิจกรรมอื่น
ความเห็นในภาพรวม – Overall Opinion การประเมิน (Rating) ข้อสรุป และ/หรือคำบรรยายของผลการตรวจสอบที่จัดทำโดยหัวหน้าผู้บริหารงานตรวจสอบ ซึ่งระบุครอบคลุมกระบวนการการกำกับดูแล การบริหารความเสี่ยง และการควบคุมขององค์กร ทั้งนี้ความเห็นในภาพรวมเป็นดุลยพินิจอย่างเป็นมืออาชีพของหัวหน้าผู้บริหารงานตรวจสอบ ซึ่งขึ้นอยู่กับผลการตรวจสอบแต่ละภารกิจจำนวนหนึ่งและกิจกรรมอื่น ๆ ภายในช่วงระยะเวลาที่เฉพาะเจาะจง
ความเสี่ยงคงเหลือ – Residual Risk ความเสี่ยงที่คงเหลืออยู่หลังจากที่ผู้บริหารได้ดำเนินการลดผลกระทบและโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ รวมถึงความเสี่ยงที่ยังหลงเหลืออยู่หลังจากที่ได้มีกิจกรรมการควบคุมแล้ว
ความเสี่ยง – Risk ความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายขององค์กร ความเสี่ยงวัดได้จากผลกระทบที่ได้รับจากเหตุการณ์ และโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์นั้น
ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ – Risk Appetite ระดับความเสี่ยงที่องค์กรพร้อมยอมรับให้เกิดขึ้นได้
การบริหารความเสี่ยง – Risk Management กระบวนการในการระบุ ประเมิน บริหาร และควบคุม เหตุการณ์หรือสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้ความเชื่อมั่นอย่างสมเหตุสมผลว่าองค์กรสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้
ความสำคัญ – Significance ความสำคัญของประเด็นแวดล้อมที่นำไปพิจารณา รวมถึงตัวแปรทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ เช่น ขนาด ลักษณะ ผลกระทบ ความเกี่ยวข้อง และความร้ายแรง การใช้ดุลยพินิจอย่างมืออาชีพช่วยผู้ตรวจสอบในการประเมินความสำคัญของประเด็นแวดล้อมภายใต้วัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้อง
มาตรฐาน – Standard มาตรฐานสากลการปฏิบัติงานวิชาชีพการตรวจสอบภายในที่ทางคณะกรรมการมาตรฐานการตรวจสอบภายในของสมาคมผู้ตรวจสอบภายในสากล (IIA) ได้ประกาศใช้เป็นบรรทัดฐานการดาเนินกิจกรรมการตรวจสอบภายในและการประเมินผลงานการตรวจสอบภายในโดยทั่วไป
เทคนิคการตรวจสอบโดยใช้เทคโนโลยี – Technology-based Audit Techniques เครื่องมือหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยตรวจสอบประเภทต่างๆ เช่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยตรวจสอบแบบทั่วไป (Generalized Audit Software), โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ช่วยสร้างข้อมูลเพื่อใช้ตรวจสอบ (Test data generators), โปรแกรมการตรวจสอบแบบ computerized, โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยตรวจสอบแบบเฉพาะทาง (Specialized audit utilities) และ CAATs (Computer Assisted Audit Techniques)

Internal Control

[powr-hit-counter id=f04713d8_1489652769]