การประเมินระบบการควบคุมภายใน เป็นการพิจารณาถึงผลสัมฤทธิ์ของระบบการควบคุมภายในที่มีอยู่ในหน่วยงาน โดยการเปรียบเทียบผลการปฏิบัติงานกับระบบการควบคุมภายในที่กำหนดไว้ว่ามีความสอดคล้องหรือไม่เพียงใด และสอบทานระบบการควบคุมภายในของหน่วยงานว่ายังมีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบันหรือไม่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริหารว่าการดำเนินงานของหน่วยงานเป็นไปตามระบบการควบคุมภายในที่วางไว้ และทำให้เกิดแนวทางในการปรับปรุงระบบการควบคุมภายในให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
วัตถุประสงค์ของการประเมินระบบการควบคุมภายใน
- เพื่อให้ทราบว่าระบบการควบคุมภายในที่มีอยู่สามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงได้หรือไม่อย่างไร
- เพื่อให้ทราบว่าการปฏิบัติงานตามระบบการควบคุมภายในที่กำหนด ได้ผลสำเร็จตามเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่วางไว้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และคุ้มค่าหรือไม่เพียงใด
- เพื่อให้มีการปรับปรุงหรือแก้ไขระบบการควบคุมภายในได้อย่างเหมาะสม ทันเวลาและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
[vc_gallery interval=”3″ images=”879,883,862″ img_size=”180×150″ onclick=””]
ประโยชน์ที่ได้รับจากการประเมินระบบการควบคุมภายใน
- ทำให้ผู้บริหารได้รับทราบผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานของหน่วยงาน และเป็นข้อมูลประกอบในการตัดสินใจเพื่อวางแผนและพัฒนาการดำเนินงานของหน่วยงาน
- สนับสนุนผู้บริหารเกี่ยวกับแนวทางในการปรับปรุงระบบการควบคุมภายในของหน่วยงานให้มีความเหมาะสม
- กระตุ้นและส่งเสริมให้บุคลากรในหน่วยงานมีการปฏิบัติงานตามระบบการควบคุมภายในที่วางไว้
- ทำให้มีการใช้ทรัพยากรของหน่วยงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัดและคุ้มค่า
- ส่งเสริมการปฏิบัติงานตรวจสอบของผู้ตรวจสอบภายใน โดยการนำผลที่ได้จากการประเมินระบบการควบคุมภายในของหน่วยงาน มาเป็นปัจจัยหนึ่งประกอบการประเมินความเสี่ยงเพื่อวางแผนการตรวจสอบ และการกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานตรวจสอบต่อไป
รูปแบบของการประเมิน
1. การประเมินด้วยตนเอง (Control Self Assessment)
เป็นรูปแบบการประเมินในลักษณะความร่วมมือกันระหว่างผู้บริหารกับผู้ปฏิบัติงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการปฏิบัติงานตามระบบการควบคุมภายในที่วางไว้ ซึ่งจะทำให้ผู้บริหารสามารถค้นพบปัญหาหรือข้อบกพร่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติงานได้รวดเร็วและเพียงพอที่จะช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ทันเวลา
2. การประเมินอย่างเป็นอิสระ
เป็นรูปแบบการประเมินโดยผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรการหรือออกแบบระบบการควบคุมภายในของหน่วยงาน เช่น ผู้ตรวจสอบภายใน ผู้ตรวจสอบภายนอก ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับมอบหมาย เป็นต้น ซึ่งการประเมินรูปแบบนี้จะเป็นการสร้างความมั่นใจให้ผู้บริหารว่าการประเมินระบบการควบคุมภายในได้ดำเนินการไปอย่างเที่ยงธรรม
ขอบเขตและความถี่ในการประเมิน
1. ขอบเขตการประเมิน
ผู้ประเมินควรประเมินระบบการควบคุมภายในทุกกิจกรรมการควบคุมตามระบบการควบคุมภายในที่หน่วยงานกำหนดขึ้น แต่หากในกรณีที่หน่วยงานมีการจัดระบบการควบคุมภายในไว้หลายกิจกรรม และอาจมีข้อจำกัดบางประการในการดำเนินงาน เช่น จำนวนผู้ประเมิน ค่าใช้จ่ายในการประเมิน เป็นต้น ผู้ประเมินอาจต้องใช้วิธีการเลือกประเด็นในการประเมินโดยพิจารณาจาก
- ผลการประเมินความเสี่ยงจากการจัดวางระบบการควบคุมภายใน
- กิจกรรมการควบคุมที่ผู้บริหารให้ความสำคัญ
- ความสำคัญตามภารกิจหลักและกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญซึ่งมีผลกระทบต่อการดำเนินงานของหน่วยงานโดยรวม
2. ความถี่ในการประเมิน
การประเมินระบบการควบคุมภายในควรพิจารณาถึงความถี่หรือโอกาสในการประเมินประกอบกันด้วย กล่าวคือ
- กิจกรรมการควบคุมสำหรับด้านหรืองานที่มีระดับความเสี่ยงสูง จะมีความถี่หรือโอกาสในการประเมินได้มากหรือบ่อยครั้งกว่ากิจกรรมการควบคุมสำหรับด้านหรืองานที่มีระดับความเสี่ยงต่ำกว่า
- กิจกรรมการควบคุมเฉพาะด้านหรือเฉพาะงานใดงานหนึ่ง จะมีความถี่หรือโอกาสในการประเมินได้มากหรือบ่อยครั้งกว่ากิจกรรมการควบคุมโดยรวมของหน่วยงาน เนื่องจากการประเมินกิจกรรมการควบคุมโดยรวมของหน่วยงานมักจะประเมินก็ต่อเมื่อหน่วยงานมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและมีผลกระทบต่อการดำเนินงานของหน่วยงาน
หลักฐานในการประเมิน
ผู้ประเมินจะต้องมีการรวบรวมข้อเท็จจริงต่างๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการสรุปผลการประเมินและเป็นหลักฐานอ้างอิงในภายหลัง โดยควรเลือกใช้เทคนิคหรือวิธีที่เหมาะสมในการรวบรวมหลักฐานที่ดีที่สุด โดยคำนึงถึงระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการรวบรวมหลักฐานให้น้อยที่สุด เพื่อให้การประเมินระบบการควบคุมภายในมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด
วิธีการประเมินระบบการควบคุมภายใน
ผลการประเมินที่ได้ ผู้ประเมินสามารถนำมาสรุปผลการประเมินได้ ดังนี้
- หากผลการประเมินมีคะแนนที่สูงหรือมีระดับคะแนนโดยเฉลี่ยมาก แสดงว่าหน่วยงานหรือระบบงานนั้นๆ มีระบบการควบคุมภายในที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการจัดการและกำกับดูแลกิจการที่ดีของหน่วยงาน
- หากผลการประเมินมีคะแนนที่ต่ำหรือมีระดับคะแนนโดยเฉลี่ยน้อย แสดงว่าหน่วยงานหรือระบบงานนั้นๆ มีระบบการควบคุมภายในที่ไม่ดี และควรที่จะได้รับการปรับปรุงหรือแก้ไขระบบการควบคุมภายในที่มีอยู่ให้มีประสิทธิผล ประสิทธิภาพ และรัดกุมเพิ่มมากขึ้น