สำนักงานตรวจสอบได้จัดเตรียมระบบการประกันคุณภาพงานตรวจสอบ (Quality Assurance) โดยกำหนดให้มีกิจกรรมหรือกระบวนการปฏิบัติงานที่จะทำให้การปฏิบัติงานของผู้ตรวจสอบภายในตามขั้นตอนต่างๆ นำไปสู่ผลการตรวจสอบที่เป็นที่ยอมรับและได้รับความเชื่อถือในผลงานจากผู้บริหารหน่วยงานรับตรวจ ผู้บริหารสภากาชาดไทย และผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ อีกทั้งมีคุณภาพตามข้อกำหนดด้านคุณภาพงานตรวจสอบภายใน สอดคล้องกับมาตรฐาน และเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของสำนักงานตรวจสอบ

วัตถุประสงค์ของการประกันคุณภาพงานตรวจสอบ

  1. เพื่อให้การปฏิบัติงานตรวจสอบสอดคล้องตามมาตรฐานการตรวจสอบภายใน
  2. เพื่อให้งานตรวจสอบภายในมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพิ่มมูลค่าให้แก่องค์กร
  3. เพื่อสร้างและรักษาคุณภาพการตรวจสอบภายใน ให้ผู้บริหารของสภากาชาดไทยและผู้ที่เกี่ยวข้องมั่นใจต่อคุณภาพงานตรวจสอบ

วิธีการในการประกันคุณภาพงานตรวจสอบ

Internal Assessment

1. การประกันคุณภาพภายใน

1.1 ประเมินตนเอง (Control Self-Assessment) เพื่อสอบทานหรือทบทวนการปฏิบัติงานเมื่อแต่ละงานตรวจสอบเสร็จสิ้น

1.2 จัดทำแบบประเมินผลทีมตรวจสอบภายใน (Auditee Evaluation) ส่งให้ผู้บริหารหน่วยงานรับตรวจประเมินผลและให้ความคิดเห็น

1.3 กำกับดูแลและสอบทาน (Supervision) การปฏิบัติงานของผู้ตรวจสอบภายในโดยหัวหน้างานและผู้บริหารสำนักงานตรวจสอบ

1.4 ประเมินผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัด (KPI) ของสำนักงาน เมื่อครบระยะเวลาที่กำหนดไว้

External Assessment

2. การประกันคุณภาพภายนอก

จัดหาผู้ประเมินคุณภาพจากภายนอกโดยวิธีการจัดจ้างจากหน่วยงานวิชาชีพที่เชื่อถือได้ เข้าดำเนินการประเมินคุณภาพงานตรวจสอบของสำนักงานตามขอบเขตมาตรฐาน ตามนโยบายประกันคุณภาพของหน่วยงานตรวจสอบ

รายงานผลการประกันคุณภาพงานตรวจสอบ

สำนักงานตรวจสอบดำเนินการสรุปและวิเคราะห์ผลประเมินของผู้ประเมินทั้งภายในและภายนอกในระบบการประกันคุณภาพงานตรวจสอบ เพื่อนำมาใช้พัฒนาปรับปรุงคุณภาพงานตรวจสอบให้เป็นไปตามมาตรฐานการตรวจสอบที่ดีและสอดคล้องกับนโยบายการตรวจสอบของสภากาชาดไทย รวมถึงนำเสนอและให้ความเห็นที่จะปรับปรุงตามรายงานผลการประกันคุณภาพงานตรวจสอบต่อคณะกรรมการตรวจสอบ

[powr-hit-counter id=f04713d8_1489652769]