สำนักงานตรวจสอบเป็นหน่วยงานของสภากาชาดไทยที่จัดตั้งขึ้น ในกำกับของคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อช่วยคณะกรรมการสภากาชาดไทย ในการสร้างระบบกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง การประเมินการควบคุมภายใน และการปฏิบัติตามระเบียบฯ คู่มือ แนวปฏิบัติ กฎหมาย ให้ได้มาตรฐานและเป็นไปตามแนวทางที่ถูกต้อง อันจะช่วยให้สภากาชาดไทยดำเนินการบรรลุตามเป้าหมายอย่างโปร่งใส
1. วัตถุประสงค์
กฎบัตรของสำนักงานตรวจสอบจัดทำขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่าง คณะกรรมการ คณะกรรมการตรวจสอบ สำนักงานตรวจสอบและหน่วยงานในสภากาชาดไทย เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ ของสำนักงานตรวจสอบ สภากาชาดไทย ดังนี้
2. บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบ
2.1 สำนักงานตรวจสอบ มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการตรวจสอบการปฏิบัติงานทุกหน่วยงานภายในสภากาชาดไทย และมีอิสระในการเข้าถึงข้อมูล เอกสาร ทรัพย์สิน รวมถึงข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับงานตรวจสอบตามความจำเป็นและเหมาะสม และผู้บริหารทุกระดับของสภากาชาดไทยมีหน้าที่ในการช่วยสนับสนุนให้การปฏิบัติงานของสำนักงานตรวจสอบบรรลุตามหน้าที่ วัตถุประสงค์ของการตรวจสอบ และเป็นประโยชน์ที่เหมาะสมอย่างยั่งยืนต่อสภากาชาดไทย
2.2 สำนักงานตรวจสอบ มีหน้าที่ในการตรวจสอบและให้ข้อแนะนำเพื่อพัฒนาระบบการควบคุมภายใน โดยฝ่ายบริหารเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดให้มีและดำเนินการตามระบบการควบคุมภายในที่กำหนดไว้
2.3 เอกสารและข้อมูลใดๆ ซึ่งสำนักงานตรวจสอบได้มาหรือรับรู้จากการตรวจสอบ จะถูกรักษาไว้เป็นความลับและไม่เปิดเผยแก่บุคคลอื่นใด โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่เป็นการเปิดเผยตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้
2.4 กำหนดเป้าหมาย ทิศทาง ภารกิจงานตรวจสอบภายใน เพื่อสนับสนุนการบริหารงานและการดำเนินงานด้านต่างๆ ของสภากาชาดไทย โดยให้สอดคล้องกับนโยบายของ สภากาชาดไทย คณะกรรมการ และคณะกรรมการตรวจสอบโดยคำนึงถึงการกำกับดูแลที่ดี ความมีประสิทธิภาพของกิจกรรมการฟบริหารความเสี่ยงและความเพียงพอของการควบคุมภายในด้วย
2.5 กำหนดกฎบัตรไว้เป็นลายลักษณ์อักษรและเสนอคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและเผยแพร่หน่วยรับตรวจทราบ รวมทั้งมีการสอบทานความเหมาะสมของกฎบัตรอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
2.6 จัดให้มีการประกันคุณภาพงานตรวจสอบภายในด้วยตนเองและจากหน่วยงานรับตรวจเป็นประจำทุกแผนงานตรวจสอบ เพื่อนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบและนำมาใช้ส่งเสริมให้มีพัฒนาและการปฏิบัติงานตรวจสอบมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล รวมถึงเกิดความคุ้มค่าและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสภากาชาดไทย และเป็นฐานเตรียมความพร้อมที่จะรับการประเมินจากองค์กรภายนอก การประกันและปรับปรุงคุณภาพงานตรวจสอบภายในตามรูปแบบและวิธีการที่สำนักงานตรวจสอบกำหนด
2.7 ปฏิบัติงานในการให้คำปรึกษาแก่หน่วยรับตรวจและผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเสนอแนะข้อแก้ไขปรับปรุงการปฏิบัติงานด้านต่างๆ ที่เห็นว่ามีโอกาสที่จะปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพประสิทธิผลเพิ่มขึ้น
2.8 ประสานงานกับผู้สอบบัญชี คณะกรรมการตรวจสอบ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าขอบเขตของงานตรวจสอบครอบคลุมเรื่องที่สำคัญอย่างเหมาะสมและลดการปฏิบัติงานที่ซ้ำซ้อนกัน
2.9 ปฏิบัติงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบภายใน ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการตรวจสอบ กรณีมีความจำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญมาร่วมปฏิบัติงานตรวจสอบ ให้เสนอคณะกรรมการตรวจสอบพิจารณาอนุมัติ
3. ขอบเขตการปฏิบัติงาน
การปฏิบัติงานของสำนักงานตรวจสอบของสภากาชาดไทยมีขอบเขตการปฏิบัติงานครอบคลุมทุกภารกิจในสภากาชาดไทย โดยมีประเภทของการตรวจสอบ ดังนี้
3.1 สอบทานความถูกต้องและเชื่อถือได้ของข้อมูลการดำเนินงานและการเงินการคลัง (Financial Audit)
3.2 การตรวจสอบการปฏิบัติงาน (Operational Audit) เป็นการตรวจสอบการปฏิบัติงาน มุ่งเน้นการป้องกันอย่างสร้างสรรค์ เพื่อประสิทธิภาพและมูลค่าเพิ่มให้กับการปฏิบัติงานในหน่วยงานต่างๆ
3.3 การตรวจสอบการปฏิบัติงานตามข้อกำหนด (Compliance Audit) เป็นการตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย มติของคณะกรรมการ นโยบาย แผนงาน และกฎระเบียบปฏิบัติงานต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ ที่อย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงานและครบถ้วน
3.4 การตรวจสอบส่วนกลาง (Corporate Audit) เป็นการตรวจสอบส่วนกลางให้เป็นไปตามนโยบาย เป้าหมาย หรือมาตรฐานขององค์กรที่หน่วยงานกำหนดขึ้นอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพประสิทธิผลที่ดี รวมทั้งตรวจสอบระบบการดูแลรักษาและความปลอดภัยของทรัพย์สินให้มีความเหมาะสม วิเคราะห์และประเมินความมีประสิทธิภาพ ประหยัดและคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากร
3.5 ประสานงานเพื่อทำความเข้าใจเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชั่นกับหน่วยงานตามนโยบายที่ได้รับอนุมัติแล้ว เพื่อลดความเสี่ยงในด้านการคอร์รัปชั่นหรือการทุจริต และการรับข้อร้องเรียน (Whistle Blowing) รวมทั้งรายการที่เกี่ยวโยงกัน รายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรือมีโอกาสเกิดการทุจริตที่อาจมีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของสภากาชาดไทย
3.6 ประเมินความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินงานในหน้าที่ของหน่วยรับตรวจ เสนอแนะการปรับปรุงการบริหารความเสี่ยง การควบคุม และการกำกับดูแลอย่างต่อเนื่อง ลดโอกาสความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตให้อยู่ในระดับที่สภากาชาดไทยยอมรับได้ รวมทั้งประเมินความเหมาะสมของหลักการปฏิบัติที่เกี่ยวกับการบัญชี การเงิน และการปฏิบัติงานอื่น ๆ ว่ามีการควบคุมและเสนอแนะให้นำวิธีการควบคุมที่มีประสิทธิภาพมาใช้
3.7 ตรวจสอบระบบการประมวลผลสารสนเทศภายในองค์กรว่ามีระบบที่มีการควบคุมอย่างเหมาะสมทั้งในด้านผลการปฏิบัติงาน ความปลอดภัย และความมั่นคงของข้อมูล
4. การรายงานของสำนักงานตรวจสอบ
สำนักงานตรวจสอบมีการจัดทำรายงาน ดังนี้
4.1 จัดทำวิสัยทัศน์ พันธกิจ กลยุทธ์ และแผนการตรวจสอบภายในประจำปี และนำเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อพิจารณาอนุมัติ จากนั้นจึงนำเสนอต่อคณะกรรมการสภากาชาดไทย เพื่อทราบ ในกรณีที่สำนักงานตรวจสอบวางแผนการตรวจสอบที่มีระยะเวลาตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปให้นำมาใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติแผนการตรวจสอบประจำปีด้วย
4.2 จัดทำงบประมาณประจำปี งบกำลังพล และนำเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการสภากาชาดไทยเพื่ออนุมัติ
4.3 จัดทำรายงานการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบทุก 3 เดือน
4.4 จัดทำรายงานผลการตรวจสอบเพื่อเสนอต่อผู้บริหารที่รับผิดชอบหน่วยงานที่รับการตรวจสอบเพื่อพิจารณาปัญหาและวิธีแก้ไขที่เห็นชอบร่วมกัน ภายในเวลาอันสมควรและไม่เกินสองเดือนนับจากวันที่ดำเนินการตรวจสอบแล้วเสร็จ
4.5 จัดทำรายงานผลการตรวจสอบสรุปประเด็นสำคัญที่พบตามหลักฐานและสาเหตุเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะและผลการติดตามการตรวจสอบครั้งก่อน ต่อคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อพิจารณาดำเนินการ และเสนอต่อเลขาธิการสภากาชาดไทยเพื่อทราบ
4.6 จัดทำรายงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการความเสี่ยง และการควบคุมภายใน นำเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ประกอบด้วย
– ความเห็นเกี่ยวกับประสิทธิผลของการบริหารจัดการความเสี่ยง และความเสี่ยงด้านการทุจริต รวมถึงระบบการร้องเรียน (Whistleblowing)
– ความเห็นเกี่ยวกับความเพียงพอและเหมาะสมของการควบคุมภายในด้านการเงิน และกระบวนการอื่นที่พิจารณาว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดการทุจริต
5. ความเป็นอิสระ
5.1 กิจกรรมการตรวจสอบต้องเป็นอิสระจากอิทธิพลอื่นใด ทั้งในแง่ของขอบเขตการตรวจสอบ ระยะเวลา การปฏิบัติงานตรวจสอบและการจัดทำรายงาน เพื่อให้การปฏิบัติงานตรวจสอบเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ บรรลุเป้าหมาย และเป็นไปตามวิสัยทัศน์ พันธกิจ กลยุทธ์และแผนการตรวจสอบที่วางไว้
5.2 เจ้าหน้าที่ตรวจสอบไม่มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องการปฏิบัติงานประจำที่มิใช่งานตรวจสอบ กรณีที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานอื่นที่มิใช่งานตรวจสอบ ถือว่าไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่นั้นในฐานะเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ และไม่ควรตรวจสอบหน่วยงานที่ได้ไปช่วยปฏิบัติงานในเรื่องนั้นในช่วงระยะเวลา 1 ปี หลังจากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบนั้นพ้นการปฏิบัติหน้าที่
6. จริยธรรมของผู้ตรวจสอบภายใน
เจ้าหน้าที่ตรวจสอบของสำนักงานตรวจสอบปฏิบัติหน้าที่ตามปณิธานของสภากาชาดไทย โดย
6.1 เจ้าหน้าที่ตรวจสอบจะปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อดำรงไว้ซึ่งเกียรติยศ ศักดิ์ศรี และคุณความดี ตามอุดมการณ์ของสภากาชาดไทย
6.2 เจ้าหน้าที่ตรวจสอบจะเป็นผู้มีความซื่อสัตย์ สุจริต มีระเบียบวินัย เคารพและปฏิบัติตามกฎระเบียบของสภากาชาดไทยตลอดไป
6.3 เจ้าหน้าที่ตรวจสอบจะมุ่งมั่นประสานกำลัง สร้างสรรค์ภารกิจของสภากาชาดไทย เพื่อสร้างเสริมสุขให้เกิดขึ้นกับสังคมไทย อย่างเต็มกำลังความสามารถ
นอกจากปณิธานของสภากาชาดไทยแล้ว เจ้าหน้าที่ตรวจสอบปฏิบัติงานโดยยึดถือหลักจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ดังนี้
– ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์
– มีอิสระในการตรวจสอบ
– ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานการตรวจสอบที่กำหนดไว้
– ปกปิดความลับที่ได้จากการตรวจสอบ
– มีความเที่ยงธรรม ไม่อคติ และไม่รับผลตอบแทนใดๆ
– ใฝ่หาความรู้ และนำมาพัฒนาการตรวจสอบให้ก้าวหน้าอย่างมั่นคง
ประกาศ ณ วันที่ 1 กันยายน 2565
(นายกลินท์ สารสิน)
ประธานคณะกรรมการตรวจสอบสภากาชาดไทย