ด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ได้มีพระราชดำริสมควรให้มีคณะกรรมการตรวจสอบของสภากาชาดไทยขึ้น และคณะกรรมการสภากาชาดไทย ในการประชุมครั้งที่ 279 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2548 ได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อทำหน้าที่ช่วยคณะกรรมการสภากาชาดไทย ในการกำกับดูแลหน่วยงาน ของสภากาชาดไทย ในการปฏิบัติตามนโยบาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อเป็นการส่งเสริมการดำเนินงานตามความมุ่งหมายขององค์กร ตามหลักการกำกับดูแลองค์กรที่ดี มีความโปร่งใส

1. วัตถุประสงค์

กฎบัตรของคณะกรรมการตรวจสอบจัดทำขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างคณะกรรมการ คณะกรรมการตรวจสอบ สำนักงานตรวจสอบและหน่วยงานในสภากาชาดไทย เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบในการกำกับดูแลหน่วยงานของสภากาชาดไทยให้มีการปฏิบัติตามนโยบาย ระเบียบ ข้อบังคับของสภากาชาดไทยและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติ ส่งเสริมการเป็นองค์กรที่มีการกำกับดูแลองค์กรที่ดี

2. อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ

คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ ดังนี้

2.1   จัดทำกฎบัตรของคณะกรรมการตรวจสอบให้สอดคล้องกับขอบเขตความรับผิดชอบในการดำเนินงานของสภากาชาดไทย โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสภากาชาดไทย และมีการสอบทานความเหมาะสมของกฎบัตรดังกล่าวอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

2.2   สอบทานประสิทธิภาพและประสิทธิผลของกระบวนการควบคุมภายใน กระบวนการบริหารความเสี่ยงและกระบวนการกำกับดูแลที่ดี รวมถึงระบบบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการทุจริตและระบบการรับแจ้งเบาะแส และสอบทานให้สภากาชาดไทยมีการตรวจสอบภายในและการประเมินการควบคุมด้วยตนเองที่เหมาะสม

2.3   สอบทานให้สภากาชาดไทยมีรายงานทางการเงินอย่างถูกต้องและน่าเชื่อถือ

2.4   สอบทานการดำเนินงานของสภากาชาดไทยให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน รวมทั้งข้อกำหนดอื่นของสภากาชาดไทย

2.5   กำกับดูแลสำนักงานตรวจสอบให้มีวิสัยทัศน์ พันธกิจ และกลยุทธ์ในระยะปานกลาง รวมทั้ง อนุมัติงบประมาณ ผังการบริหารงาน กำลังพล กฎบัตร และแผนการตรวจสอบประจำปี รวมทั้งออกข้อบังคับและคู่มือปฏิบัติงานเกี่ยวกับงานตรวจสอบ และกำกับดูแลระบบงานตรวจสอบภายในของสภากาชาดไทย ให้มีความเป็นอิสระเพื่อพัฒนาการปฏิบัติงานในหน้าที่ รวมทั้งประเมินผลการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบรายคณะ ปัญหาและอุปสรรคของสำนักงานตรวจสอบ และเสนอแนะแนวทางการพัฒนาระบบการตรวจสอบภายในและศักยภาพของผู้ตรวจสอบภายในอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

2.6   พิจารณารายการที่เกี่ยวโยงกัน รายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรือมีโอกาสเกิดการทุจริตที่อาจมีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของสภากาชาดไทย และการรับข้อร้องเรียน (Whistle Blowing)

2.7   ประชุมหารือร่วมกับผู้สอบบัญชีของสภากาชาดไทย สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน รับทราบเกี่ยวกับผลการตรวจสอบและเรื่องอื่นๆ และอาจเสนอแนะให้สอบทาน หรือตรวจสอบรายการใดที่เห็นว่าจำเป็น และประชุมกับผู้สอบบัญชีโดยไม่มีฝ่ายบริหารเข้าร่วมประชุมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

2.8   มีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล บุคคล เอกสารหลักฐาน และทรัพย์สินต่างๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) เพื่อรับทราบข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน สามารถเชิญฝ่ายบริหาร หัวหน้าหน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ของสภากาชาดไทยที่เกี่ยวข้องมาให้ความเห็น ร่วมประชุม หรือจัดหาเอกสารที่เห็นว่าเกี่ยวข้องจำเป็น รวมทั้ง ให้สามารถจ้างที่ปรึกษาหรือบุคคลภายนอกมาให้ความเห็นหรือคำปรึกษาเมื่อเห็นว่ามีความจำเป็นด้วยค่าใช้จ่ายของสภากาชาดไทย

2.9  ให้ความเห็นชอบในการประเมิน การแต่งตั้ง ถอดถอน เลิกจ้าง และพิจารณาความดีความชอบ เลื่อนระดับ ของผู้อำนวยการ/รองผู้อำนวยการ สำนักงานตรวจสอบ

2.10 ปฏิบัติงานอื่นใดที่คณะกรรมการสภากาชาดไทยมอบหมาย

3. การรายงานต่อคณะกรรมการ

รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบให้คณะกรรมการสภากาชาดไทยทราบ เป็นรายไตรมาส

4. องค์ประกอบและคุณสมบัติ

คณะกรรมการตรวจสอบมีองค์ประกอบ ดังนี้

4.1   อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทยเป็นผู้แต่งตั้งประธานคณะกรรมการตรวจสอบจากกรรมการตรวจสอบ

4.2   คณะกรรมการตรวจสอบมีจำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน และไม่เกิน 5 คน ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบสภากาชาดไทยแต่งตั้งจากกรรมการสภากาชาดไทย

4.3   กรรมการตรวจสอบอย่างน้อย 1 คน ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญด้านการตรวจสอบ หรือด้านบัญชีและการเงิน

4.4   กรรมการตรวจสอบต้องไม่มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสีย ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมที่มีนัยสำคัญ ที่อาจกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ และการให้ความเห็นที่เป็นอิสระ

4.5   คณะกรรมการตรวจสอบเป็นผู้แต่งตั้งเลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบ

5. วาระการดำรงตำแหน่ง

5.1   คณะกรรมการตรวจสอบมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี กรรมการตรวจสอบซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับการแต่งตั้งใหม่อีกได้

5.2   นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระดังกล่าวข้างต้น กรรมการตรวจสอบพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

        5.2.1  ตาย

        5.2.2  ลาออก

        5.2.3  ขาดคุณสมบัติการเป็นกรรมการตรวจสอบตามข้อบังคับ

        5.2.4  คณะกรรมการสภากาชาดไทยมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง

5.3   กรรมการตรวจสอบคนใดจะลาออกจากตำแหน่งให้แจ้งต่อคณะกรรมการ       สภากาชาดไทยล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 เดือน

5.4   ในกรณีที่กรรมการตรวจสอบพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ให้คณะกรรมการตรวจสอบที่พ้นจากตำแหน่งต้องอยู่รักษาการในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปพลางก่อนจนกว่าคณะกรรมการตรวจสอบชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่

5.5   ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการตรวจสอบว่างลงเพราะเหตุอื่น นอกจากถึงคราวออกตามวาระ ให้คณะกรรมการสภากาชาดไทยแต่งตั้งบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ขึ้นเป็นกรรมการตรวจสอบแทน เพื่อให้กรรมการตรวจสอบมีจำนวนครบตามที่คณะกรรมการสภากาชาดไทยกำหนด โดยบุคคลที่เข้าเป็นกรรมการตรวจสอบแทน อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระที่ยังเหลืออยู่ของกรรมการตรวจสอบซึ่งตนแทน

6. การประชุม

6.1   ให้มีการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง

6.2   ในการเรียกประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ ให้ประธานคณะกรรมการตรวจสอบหรือเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบโดยคำสั่งของประธานคณะกรรมการตรวจสอบ ส่งหนังสือเชิญประชุมไปยังกรรมการตรวจสอบไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนวันประชุม เว้นแต่ในกรณีจำเป็นรีบด่วนจะแจ้งการเชิญประชุมโดยวิธีอื่น หรือกำหนดวันประชุมให้เร็วกว่านั้นก็ได้

6.3   คณะกรรมการตรวจสอบควรจัดให้มีการประชุมในเรื่องต่างๆ ตามขอบเขตอำนาจหน้าที่

7. องค์ประชุม

ในการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ ต้องมีกรรมการตรวจสอบมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการตรวจสอบทั้งหมดที่คณะกรรมการสภากาชาดไทยแต่งตั้งจึงจะเป็นองค์ประชุม ในกรณีที่ประธานคณะกรรมการตรวจสอบไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการตรวจสอบซึ่งมาประชุมเลือกกรรมการตรวจสอบคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

7.2   การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก

7.3   กรรมการตรวจสอบคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน เว้นแต่กรรมการตรวจสอบซึ่งมีส่วนได้เสียในเรื่องใดไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในเรื่องนั้น ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

7.4   การลงมติของคณะกรรมการตรวจสอบ อาจกระทำได้โดยไม่ต้องมีการประชุม และมีผลสมบูรณ์เสมือนหนึ่งว่าได้มีการประชุมลงมติแล้ว เมื่อมตินั้น ๆ กรรมการตรวจสอบได้ลงลายมือชื่อรับรองไว้ทุกคน

 

ฉบับแก้ไขปี 2565

มติคณะกรรมการตรวจสอบฯ เห็นชอบ ครั้งที่ 3/2565 วันที่ 8 ส.ค. 65