มาตรฐานคุณธรรมจริยธรรมของบุคลากรสภากาชาดไทย

1. มนุษยธรรม

กาชาดกำเนิดขึ้นเนื่องจากความปรารถนาที่จะช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในสนามรบ โดยไม่เลือกเชื้อชาติ  วรรณะ ลัทธิศาสนา ซึ่งการช่วยเหลือกระทำทั้งในประเทศของตนเอง และต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อป้องกันและบรรเทาทุกข์ทรมานของมนุษย์ทุกหนแห่งโดยกาชาด มีจุดมุ่งหมายที่จะคุ้มครองชีวิตและสุขภาพของทุกคน เคารพต่อสิทธิมนุษยชน สนับสนุนและส่งเสริมความเข้าใจ ความเป็นมิตรภาพและความร่วมมือ รวมถึงการส่งเสริมสันติภาพ ระหว่างประชากรทั้งมวล

2. ความไม่ลำเอียง

กาชาดไม่เลือกปฏิบัติในเรื่อง สัญชาติ เชื้อชาติ ความเชื่อทางศาสนา ชั้น วรรณะ หรือความคิดเห็นทางการเมือง กาชาดเพียรพยายามอย่างเดียวที่จะบรรเทาทุกข์ทรมาน โดยการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนที่สุด

3. ความเป็นกลาง

เพื่อที่จะได้รับความวางใจจากทุกฝ่าย กาชาดไม่อาจเกี่ยวข้องหรือเข้ากับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในการสู้รบ ไม่ว่าในเวลาใดหรือกรณีขัดแย้งใดๆ อันเนื่องมาจากทางการเมือง เชื้อชาติ ศาสนา หรือลัทธินิยม

4. ความเป็นอิสระ

กาชาดเป็นอิสระ สภากาชาดแห่งชาติแม้จะมีส่วนช่วยเหลือในการบริการด้านมนุษยธรรมของรัฐบาลของตนเอง และอยู่ในบังคับแห่งกฎหมายของประเทศตน จะต้องธำรงความเป็นอิสระอยู่เสมอไป เพื่อที่จะสามารถปฏิบัติตามหลักการกาชาดได้ทุกเวลา

5. บริการอาสาสมัคร

กาชาดเป็นองค์การอาสาสมัครในการบรรเทาทุกข์ โดยไม่มีความปรารถนาผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น

6. ความเป็นเอกภาพ

ในประเทศที่พึงมีสภากาชาดได้เพียงแห่งเดียว สภากาชาดต้องเปิดให้แก่คนทั่วไป สภากาชาดต้องปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรมทั่วทุกดินแดนของตน

7. ความเป็นสากล

กาชาดเป็นสถาบันสากล ซึ่งสภากาชาดทั้งมวลมีฐานะเท่าเทียมกัน มีส่วนในความรับผิดชอบและมีบทบาทหน้าที่เท่าเทียมกัน ในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

มาตรฐานการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน

1. ปฏิบัติงานให้แล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่กำหนด

2. ดูแลรักษาและใช้ทรัพยากร ทรัพย์สินของสภากาชาดไทย อย่างประหยัด คุ้มค่า ไม่ให้สูญเปล่า

3. ตรงต่อเวลา และใช้เวลาในการปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ

4. มีทัศนคติที่ดี ปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพ พร้อมพัฒนาตนเองให้มีคุณธรรมจริยธรรมในการปฏิบัติงานอยู่เสมอ

5. ปฏิบัติงานได้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนผู้ใช้บริการและนโยบายของสภากาชาดไทย

6. ปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบ รวดเร็ว และถูกต้อง โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนและสภากาชาดไทยเป็นสำคัญ

7. เรียนรู้หน้าที่เพื่อปฏิบัติงานได้อย่างเป็นระบบ มีกระบวนการทำงานที่ชัดเจน พร้อมรับการตรวจสอบได้

8. พัฒนาตนเอง เพิ่มความรู้ความสามารถ ทักษะในการทำงานและปรับปรุงงาน ให้มีประสิทธิภาพและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม

9. มีการประเมินผลการปฏิบัติงาน เพื่อปรับปรุง แก้ไข และพัฒนาให้ดีขึ้นเสมอ

10. มีการริเริ่มเสนอวิธีปฏิบัติงานใหม่ๆ และสร้างสรรค์นวัตกรรมให้เกิดประโยชน์ต่อหน่วยงาน และสังคม

[powr-hit-counter id=f04713d8_1489652769]