สภากาชาดไทยมีนโยบายสนับสนุนการดำเนินมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่นในสภากาชาดไทย จึงได้กำหนดแนวปฏิบัติเป็นลายลักษณ์อักษรไว้สำหรับการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่จะส่งผลให้ดำเนินการบรรลุตามเป้าหมายในการห้ามการคอร์รัปชั่นไม่ว่ารูปแบบใดๆ ได้อย่างถูกต้อง โปร่งใสตรวจสอบได้ และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อสภากาชาดไทย

-ร่าง-

1. หลักการ

หลักการ

ห้ามกรรมการ ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างของสภากาชาดไทย ดำเนินการหรือยอมรับการคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบทั้งทางตรงหรือทางอ้อม โดยครอบคลุมถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าตนจะอยู่ในฐานะเป็นผู้รับ ผู้ให้ หรือผู้เสนอให้สินบน ทั้งที่เป็นตัวเงิน หรือไม่เป็นตัวเงิน แก่หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเอกชน หรือบุคคลผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ที่สภากาชาดไทยได้ดำเนินภารกิจหรือติดต่อด้วย โดยจะปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นอย่างเคร่งครัด และให้มีการสอบทานการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นนี้อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนทบทวนแนวทางการปฏิบัติ และข้อกำหนดในการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของกิจการ ระเบียบ ข้อบังคับ และข้อกำหนดของกฎหมาย

ความหมายของการคอร์รัปชั่น

การคอร์รัปชั่น คือ การใช้อำนาจหรืออิทธิพลในตำแหน่งหน้าที่ที่ตนเองมีอยู่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเอง ญาติพี่น้องและพวกพ้อง เช่น การติดสินบนโดยการเสนอให้ สัญญาว่าจะให้ มอบให้ เรียกร้อง หรือรับ ซึ่งเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งไม่เหมาะสม กับหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานของเอกชน หรือบุคคลผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้หน่วยงานหรือบุคคลดังกล่าวปฏิบัติหรือละเว้นจากการปฏิบัติหน้าที่ ที่ถูกต้องตามหลักปฏิบัติที่ได้กำหนดไว้

2. บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบ

2.1 หน้าที่ความรับผิดชอบของกรรมการสภากาชาดไทย

กรรมการสภากาชาดไทยมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลให้มีระบบที่สนับสนุนการต่อต้านการคอร์รัปชั่นที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าฝ่ายบริหารได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการต่อต้านคอร์รัปชั่นและปลูกฝังจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร

2.2 หน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบ

คณะกรรมการตรวจสอบมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการสอบทานระบบรายงานทางการเงิน ระบบการควบคุมภายใน และระบบการตรวจสอบภายใน ให้มั่นใจว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากล มีความรัดกุมเหมาะสม ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ

2.3 หน้าที่ความรับผิดชอบของฝ่ายบริหารของสภากาชาดไทย

  1. ฝ่ายบริหารมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการกำหนดให้มีระบบ และให้การส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น เพื่อสื่อสารไปยังเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมทั้งทบทวนความเหมาะสมของระบบและมาตรการต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของกิจการ ระเบียบข้อบังคับ และข้อกำหนดของกฎหมาย
  2. ฝ่ายบริหารเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในการบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น โดยกำหนดให้มีระบบการควบคุมภายในที่เพียงพอ รวมทั้งการส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามระบบดังกล่าว เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดการคอร์รัปชั่น
  3. ฝ่ายบริหารควรดำเนินการให้หัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายในได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นโดยไม่ชักช้า เพื่อให้หน่วยงานตรวจสอบภายในประเมินการบริหารความเสี่ยง การควบคุม และการกำกับดูแลที่มีอยู่ว่าเพียงพอหรือไม่ และ/หรือเพื่อวางแผนการตรวจสอบให้สามารถพบหรือลดโอกาสการคอร์รัปชั่น และเพื่อให้คำแนะนำฝ่ายบริหารเกี่ยวกับการตรวจสอบในรายละเอียดและการปรับปรุงการควบคุมภายใน

2.4 หน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ตรวจสอบภายใน

ผู้ตรวจสอบภายในมีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในการตรวจสอบและประเมินความเพียงพอของมาตรการควบคุมภายในที่ฝ่ายบริหารกำหนดเพื่อป้องกันหรือลดโอกาสการเกิดคอร์รัปชั่น ด้วยความระมัดระวังรอบคอบตามแนวทางการตรวจสอบที่กำหนดไว้ โดยใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญพิจารณาบ่งชี้ถึงความเสี่ยงต่อความเสียหายของการคอร์รัปชั่นที่อาจเกิดขึ้นได้ และให้คำแนะนำที่มีประโยชน์แก่ฝ่ายบริหารเพื่อป้องกันการคอร์รัปชั่น แต่อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติงานของผู้ตรวจสอบภายในตามแนวทางการตรวจสอบที่กำหนดนั้นไม่ได้เป็นการรับประกันว่าจะค้นพบการคอร์รัปชั่นได้

3. แนวปฏิบัติการต่อต้านการคอร์รัปชั่น

1. กรรมการ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของสภากาชาดไทย ต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นและมาตรฐานจริยธรรมของบุคลากรสภากาชาดไทย โดยต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชั่น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

2. เจ้าหน้าที่ของสภากาชาดไทยไม่พึงละเลยหรือเพิกเฉย เมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับสภากาชาดไทย ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชา หรือบุคคลที่รับผิดชอบทราบ หรือแจ้งผ่านช่องทางการรับแจ้งเบาะแส ตามที่ได้กำหนดไว้ในนโยบายนี้

3. สภากาชาดไทยจะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองบุคคลที่แจ้งเรื่องคอร์รัปชั่นซึ่งเกี่ยวข้องกับสภากาชาดไทย และผู้ถูกกล่าวหา โดยใช้มาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียนหรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการรายงานการคอร์รัปชั่น ตามที่กำหนดไว้ในนโยบายนี้

4. ผู้ที่กระทำคอร์รัปชั่น เป็นการกระทำผิดมาตรฐานจริยธรรมของสภากาชาดไทย ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยตามระเบียบที่สภากาชาดไทยกำหนดไว้ และโทษตามกฎหมาย หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย

5. สภากาชาดไทยตระหนักถึงความสำคัญในการเผยแพร่ ให้ความรู้ และทำความเข้าใจกับบุคคลอื่นที่ต้องปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับสภากาชาดไทย และผู้มีส่วนได้เสียของสภากาชาดไทย

6. สภากาชาดไทยมุ่งมั่นที่จะสร้างและรักษาวัฒนธรรมองค์กรที่ยึดมั่นว่าคอร์รัปชั่นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในการดำเนินภารกิจและติดต่อทั้งกับภาครัฐและภาคเอกชน

8. เพื่อความชัดเจนในการดำเนินการในเรื่องที่มีความเสี่ยงสูงกับการเกิดคอร์รัปชั่น กรรมการ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สภากาชาดไทยทุกระดับ ต้องปฏิบัติด้วยความระมัดระวังในเรื่องดังต่อไปนี้

  1. ไม่รับทรัพย์สิน สิ่งของ ของขวัญ ของกำนัล หรือประโยชน์อื่นใด อันเป็นการชักนำให้เกิดการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของตน ทั้งนี้ก่อนการรับของขวัญของกำนัลใดๆ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของสภากาชาดไทย โดยของขวัญของกำนัลที่ให้แก่กันในหน้าที่การงานควรมีมูลค่าไม่มากและเหมาะสมในแต่ละโอกาส
  2. ไม่ให้ทรัพย์สิน สิ่งของ ของขวัญ ของกำนัล หรือประโยชน์อื่นใด เพื่อจูงใจในการตัดสินใจ หรือมีผลทำให้ผู้รับไม่ปฏิบัติตามวิธีปฏิบัติเช่นเดียวกันกับบุคคลอื่น ทั้งนี้การให้สิ่งของตามโอกาสหรือวาระต่างๆ ต้องมีมูลค่าไม่มากจนเกินปกติวิสัย

การเลี้ยงรับรองที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามสัญญาหรือตามขนบธรรมเนียม สามารถกระทำได้ แต่ต้องเป็นการใช้จ่ายอย่างสมเหตุสมผล สามารถตรวจสอบได้

การให้/รับบริจาคเพื่อการกุศล และการให้/รับเงินสนับสนุน ต้องเป็นไปอย่างโปร่งใสถูกต้องตามกฎหมาย โดยต้องมั่นใจว่าการบริจาคหรือเงินสนับสนุนไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อเป็นข้ออ้างในการคอร์รัปชั่น

ต้องดำเนินการผ่านขั้นตอนตามระเบียบของสภากาชาดไทย มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้

7. กรรมการ และผู้บริหารต้องตระหนักถึงความสำคัญในการเผยแพร่ ให้ความรู้ ให้คำปรึกษา เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา เกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชั่น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นฉบับนี้ รวมถึงเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องการมีความซื่อสัตย์และจริยธรรม

4. ระบบรับแจ้งเบาะแส

4.1 เรื่องที่รับแจ้งเบาะแส

1) การกระทำคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวกับสภากาชาดไทย

2) การกระทำที่ผิดกฎระเบียบข้อบังคับ หรือจรรยาบรรณของสภากาชาดไทย

3) การกระทำที่ผิดกฎหมาย

4) การกระทำที่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์หรือชื่อเสียงของสภากาชาดไทย

5) การกระทำที่มีผลต่อระบบการควบคุมภายในของสภากาชาดไทย จนทำให้สงสัยได้ว่าอาจจะเป็นช่องทางในการคอร์รัปชั่น

4.2 ช่องทางการรับแจ้งเบาะแส

ผู้ร้องเรียนจะต้องระบุรายละเอียดของเรื่องที่จะแจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียน พร้อมชื่อ ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ ส่งมายังช่องทางรับเรื่อง ดังนี้

1) แจ้งผ่านช่องทางอีเมล์ ได้แก่

1.1) อีเมล์ของคณะกรรมการตรวจสอบ สภากาชาดไทย

1.1.1) คุณกลินท์ สารสิน ที่ [email protected]

1.1.2) ศ.กิตติคุณ ดร. คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ ที่ [email protected]

1.1.3) ศ. ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ที่ [email protected]

1.1.4) ศ.เกียรติคุณ นพ. ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ ที่ [email protected]

1.2) อีเมล์ของเลขาธิการสภากาชาดไทย ที่ [email protected]

1.3) อีเมล์ของเหรัญญิกสภากาชาดไทย ที่ [email protected]

1.4) อีเมล์ของผู้อำนวยการสำนักงานตรวจสอบ ที่ [email protected]

1.5) อีเมล์รับแจ้งเบาะแสของสำนักงานตรวจสอบ ที่ [email protected]

2) แจ้งผ่านช่องทาง ไปรษณีย์ โดยส่งจดหมายถึง

2.1) คณะกรรมการตรวจสอบ สภากาชาดไทย ตึกอำนวยนรธรรม ชั้น 3 ถนนพระราม 4 ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

2.2) เลขาธิการสภากาชาดไทย สำนักงานบริหาร อาคารเทิดพระเกียรติฯ ชั้น 4 ถนนพระราม 4 ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

2.3) เหรัญญิกสภากาชาดไทย ตึกนิลุบล กุลแพทย์ ชั้น 2 ถนนพระราม 4 ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

2.4) ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจสอบ สภากาชาดไทย ตึกอำนวยนรธรรม ชั้น 3 ถนนพระราม 4 ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

3) แจ้งผ่านช่องทาง โทรศัพท์ หมายเลข 02-256-4690 ต่อ 100 – 102 (สำนักงานตรวจสอบ)

4) แจ้งผ่านช่องทาง เว็บไซต์ของสำนักงานตรวจสอบ https://audit.redcross.or.th/

4.3 ขั้นตอนดำเนินการสอบสวนหาข้อเท็จจริง

1) เมื่อได้รับการแจ้งเบาะแส ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจสอบจะเป็นผู้รวบรวม ผู้กลั่นกรอง และสืบสวนข้อเท็จจริงในเบื้องต้น

2) หากการสืบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้นแล้วพบว่า ข้อมูลหรือหลักฐานที่มี มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาได้กระทำการคอร์รัปชั่นจริง ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจสอบรายงานผลการสืบสวนต่อคณะกรรมการตรวจสอบ ในวาระแรกที่มีการประชุมหรือเรียกประชุมวาระพิเศษ และเสนอผู้บริหารสภากาชาดไทยให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการต่อไปตามระเบียบ

3) ระหว่างการสอบสวนข้อเท็จจริง คณะกรรมการตรวจสอบอาจจะมอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจสอบหรือตัวแทนผู้บริหาร แจ้งผลความคืบหน้าเป็นระยะให้ผู้แจ้งเบาะแสได้ทราบ

4) หากพิสูจน์พบว่ามีการกระทำการคอร์รัปชั่นจริง ผู้ถูกกล่าวหาจะได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยตามระเบียบที่สภากาชาดไทยกำหนด และหากการกระทำคอร์รัปชั่นนั้นผิดกฎหมาย ผู้กระทำผิดอาจจะต้องได้รับโทษทางกฎหมายด้วย

4.4 มาตรการคุ้มครองและรักษาความลับ

เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ร้องเรียนและผู้ให้ข้อมูลที่กระทำโดยเจตนาสุจริต รวมทั้งผู้ถูกกล่าวหา สำนักงานตรวจสอบจะปกปิดชื่อ ที่อยู่ หรือข้อมูลใดๆ ที่สามารถระบุตัวผู้ร้องเรียนหรือผู้ให้ข้อมูลได้ และเก็บรักษาข้อมูลของผู้ร้องเรียนและผู้ให้ข้อมูลไว้เป็นความลับ โดยจำกัดเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ ในกรณีที่ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อ ขอให้แจ้งเบาะแสเพียงพอที่จะตรวจสอบเพิ่มเติมได้มาด้วย

5. แบบประเมินตนเองเกี่ยวกับมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่น

แบบประเมินตนเองเกี่ยวกับมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่นนี้ ประยุกต์มาจากแบบประเมินตนเองเกี่ยวกับมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่น ที่จัดทำขึ้นโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai Institute of Directors หรือ IOD) โดยแบบประเมินมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้องค์กรสามารถประเมินจุดแข็ง ความครบถ้วน และประสิทธิผลของนโยบายและกระบวนการต่อต้านการคอร์รัปชั่นขององค์กร เพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรมีนโยบายและขั้นตอนการปฏิบัติอย่างเหมาะสมต่อความเสี่ยงด้านการคอร์รัปชั่นที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้การดำเนินงานสามารถสร้างความมั่นใจต่อผู้มีส่วนได้เสียขององค์กร

วิธีการตอบแบบประเมินตนเอง

แบบประเมินตนเองมีหลักเกณฑ์ทั้งหมด 71 ข้อ เพื่อให้ครอบคลุมกิจกรรมอันหลากหลายในองค์กร กิจกรรมบางอย่างอาจมีหลักเกณฑ์ย่อยหลายข้อ

ในการตอบแบบประเมินตนเองนี้ ผู้ประเมินสามารถบันทึกผลการประเมินและหลักฐานประกอบโดยใช้เกณฑ์ประเมินในตารางต่อไปนี้

[powr-hit-counter id=f04713d8_1489652769]